JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

About us

         
          จุดเริ่มต้นของ " บ้านมหาสวัสดิ์ "
     ความเป็นมาของบ้านมหาสวัสดิ์ เริ่มต้นจากทำเลที่ตั้งอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์  แต่เดิมเป็นสวนไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ ที่ขึ้นชื่อย่านบางกรวย นนทบุรี แต่ด้วยความเจริญที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตชุมชนชาวสวนดั้งเดิมค่อย ๆ หายไป พร้อม ๆ กับความเจริญ ดังนั้นทางเจ้าของบ้านปัจจุบัน เป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นรุ่นที่คาบเกี่ยวระหว่างชุมชนเก่าและความเจริญในปัจจุบัน จึงอยากจะอนุรักษ์วิถีชุมชนเก่า ๆ เอาไว้ โดยการเปิดบ้านส่วนตัวที่เป็นเรือนไทยริมน้ำ โดยช่างปรุงเรือนจากสุพรรณบุรี แล้วตั้งชื่อว่า " บ้านมหาสวัสดิ์ " ซึ่งเป็นชื่อตำบลปัจจุบัน ที่มีความหมายเป็นมงคลอยู่แล้ว และบริเวณบ้านได้ผสมผสานกับงานตกแต่งสวนสวย ๆ และร่มรื่น ที่ดูแล้วไม่โบราณจนเกินไป แต่ด้วยความเสียดายที่จะเก็บไว้ดูเอง อยู่เอง จึงอยากแบ่งปันให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้สัมผัสธรรมชาติ คู คลอง แบบเก่า  ๆ โดยไม่ต้องไปไหนไกล จึงเป็นที่มาของสถานที่จัดงานแต่งงานแบบไทย เพื่อเป็นอีกสถานที่จัดงานมงคลที่ไม่ซ้ำแบบใคร โดยมีขบวนแห่ขันหมากทางเรือ ตามแบบชุมชนริมน้ำสมัยก่อนที่ใช้เรือเป็นหลักที่สร้างความสนุกสนาน ครื้นเครง น่าตื่นเต้น และสวยงาม อีกทั้งทีมงานที่ทางบ้านได้คัดเลือกมาไม่ว่าจะเป็นงานตกแต่ง งานอาหาร นายพิธี ช่างภาพ ทางบ้านจะเน้นที่คุณภาพมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น คู่บ่าวสาวที่เลือกบ้านมหาสวัสดิ์ เป็นที่จัดพิธีมงคลสมรส จึงวางใจได้ในความสมบูรณ์แบบของงาน เพื่อบันทึกเป็นความทรงจำครั้งหนึ่งของชีวิตคู่ตลอดไป
      " พิธีสงฆ์ " ในวันแต่งงาน หากกระทำอย่างถูกต้องครบถ้วน นอกจากจะช่วยสืบสานประเพณีพิธีไทยอันงดงามแล้ว ยังถือเป็นพรอันมงคลที่จะช่วยสร้างความเจริญและความสุขให้กับคู่บ่าวสาวใน การเริ่มต้นครองชีวิตคู่อีกด้วยการประกอบพิธีทางศาสนาตามวิถีชาวพุทธ หรือที่เรียกว่าการเจริญพระพุทธมนต์ในวันแต่งงาน ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสำคัญอย่างหนึ่งของพิธีแต่งงานแบบไทย เพื่อให้อำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยอันศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลและคุ้มครองให้คู่บ่าวสาวมีความสุขความเจริญในชีวิตสืบไปในภายภาคหน้า พิธีสงฆ์ หรือ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลสมรส เป็นพิธีกรรมที่มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีให้ ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมนั้น การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์จะทำในช่วงเย็นของวันสุกดิบ ซึ่งเป็นวันก่อนวันแต่งงานหนึ่งวัน และในวันแต่งงานจะมีเฉพาะการตักบาตรร่วมกันในตอนเช้าแต่ในปัจจุบันนิยมทำพิธีกันในช่วงเช้าวันเดียวกัน เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและสะดวกมากขึ้นสำหรับคู่บ่าวสาว โดยการลำดับขั้นตอนพิธีก่อนหลังนั้น ขึ้นอยู่กับธรรมเนียนนิยมในแต่ละพื้นที่ที่มีทั้งการแห่ขันหมากก่อนทำพิธีสงฆ์ หรือที่ทำพิธีสงฆ์ก่อนการแห่ขันหมากการทำพิธีสงฆ์นั้น พิธีสำคัญ คือ การให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งช่วงเช้าและเพล โดยคู่บ่าวสาวจะตักบาตรร่วมกันในตอนเช้า หรือถวายภัตตาหารเช้าหรือเพลก็ได้ หากเป็นการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านหรือที่สถานที่จัดงาน นิยมทำพิธีในช่วงเช้าให้เรียบร้อยก่อนพิธีแห่ขันหมาก 
     งานแต่งงานเช่นนี้จะนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป เพื่อประกอบพิธี และเมื่อนับรวมพระพุทธรูปที่เป็นองค์พระประธานด้วยแล้วจะเป็นจำนวนคู่ คือ 10 รูป เพราะถือเคล็ดที่เลข 9 หรือ "เก้า" ที่เป็นคำพ้องสียงเหมือนกับคำว่า "ก้าว" ที่หมายถึงก้าวหน้า และหลังจากเสร็จพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์แล้วจะเป็นการตักบาตรร่วมกัน หรือถวายภัตตาหาร ซึ่งสามารถถวายพระและเณรได้ทั้งวัดไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระสงฆ์ที่มาประกอบพิธีเท่านั้น นอกจากนี้ ใน "พิธีสงฆ์" ยังต้องตระเตรียมเครื่องใช้ในพิธีให้ครบถ้วนเรียบร้อย อย่างดอกไม้ ธูป เทียน อาสานะหรือที่รองนั่งสำหรับพระสงฆ์ โต๊ะหมู่บูชาสำหรับจัดวางพระพุทธรูปประธาน ด้ายสายสิญจน์ที่ปลายด้านเริ่มต้นต้องพันวนไว้กับฐานพระพุทธรูป 3 รอบ โดยพันวนเป็นทักษิณาวรรต คือ เวียนจากซ้ายไปขวา แล้วหาพานวางด้ายสายสิญจน์ที่เหลือไว้ใกล้ ๆ เพื่อให้พระสงฆ์หยิบใช้ประกอบการเจริญพระพุทธมนต์ได้อย่างสะดวกต่อไปใกล้กับพานวางด้ายสายสิญจน์จะเป็นที่ตั้งของบาตรน้ำมนต์ ซึ่งอยู่ติดกับที่นั่งของพระสงฆ์ที่เป็นประธาน ในบาตรต้องใส่น้ำไว้พอควร จะใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาก หญ้าแพรก ผักส้มป่อย ผิวมะกรูดลงไปตามธรรมเนียมความเชื่อของแต่ละพื้นที่ก็ได้ หรือไม่ใส่อะไรตามที่พบเห็นมากที่สุดในปัจจุบันก็ได้เช่นกัน ข้าง ๆ บาตรน้ำมนต์จะวางเทียนสีขาว 1 เล่ม หนัก 1 บาท มักวางรวมไว้กับพานที่ใส่ด้ายสายสิญจน์ เพื่อใช้ในการทำน้ำมนต์ นอกจากนั้น ที่ขาดไม่ได้ยังมีมงคลแฝด และแป้งประแจะหรือแป้งกระแจะ เรียกแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่าแป้งเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาวไว้เข้าพิธีด้วย
 

 
     ประเพณีที่มีมาแต่โบราณหรือพิธีสำคัญแบบไทยนั้น ในทุกขั้นตอนของพิธีมักมีความหมายดีๆในตัวของมัน เพื่อความเป็นสิริมงคลและเสริมโชคชะตา เรื่อง " พิธีแห่ขันหมาก " เช่นเดียวกันทุกขั้นหรือของทุกสิ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายดีๆด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ทางบ้านมหาสวัสดิ์ได้เตรียมไว้ให้ครบสมบูรณ์ พานขันหมากเอกในการจัดพานขันหมากเดี่ยวนั้น เป็นแต่ละประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งในขันหมากนั้นจะใส่หมากพลู ขันใส่เงินทองและสินสอด และของที่เป็นมงคลต่างๆ อาทิเช่น ถั่ว งา ใบเงิน ใบทอง ดอกรัก ดอกกุหลาบ ดอกดาวเรือง และทั้งหมดจะนิยมใช้ดอกไม้ที่มีความหมายเป็นมงคล และจะจัดเป็นคู่ และเป็นมงคลโดยการจัดเป็นคู่นั้นหมายถึง “คู่ครอง”พานขันหมากโท การจัดขันหมากโท จะเป็นอาหารและขนม รวมถึง เหล้า ต้นกล้วย ต้นอ้อย ซึ่งมีการนำกระดาษสีแดงสีชมพูมาตกแต่งและมักจะจัดสิ่งของเป็นคู่ๆด้วยเช่นกัน และของทุกอย่างจะมีความหมายเป็นสิริมงคลเช่นเดียวกัน พานต้นกล้วย ในความเชื่อของคนในสมัยโบราณ การที่นำต้นกล้วยมาใช้ในพิธีแห่ขันหมากนั้นก็เพราะความเชื่อที่ว่า ความรักของทั้งคู่จะมีลูกดกเหมือนต้นกล้วย ซึ่งในพิธีต้นกล้วยจะมีลักษณะแนวตรงสูง ไม่คด ไม่งอ ซึ่งสื่อว่าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะซื่อตรงต่อกัน และในสมัยโบราณต้องการให้มีผลไม้เพราะเชื่อว่าจะทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองนั่นเองอย่างที่บอกไว้ข้างต้นแล้วว่า องค์ประกอบของพาน ดอกไม้ พืชผักและผลไม้ในพิธีแห่ขันหมาก และทุกอย่างเป็นของมงคลด้วยเช่น ดอกบานไม่รู้โรย หมายถึง ความรักที่ยืนยง ดอกรัก หมายถึง ความรักที่เหนียวแน่น ดอกดาวเรือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองสำหรับคู่บ่าวสาว ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ก็มี หมากพลู ใบเงิน ใบทอง  ข้าวเปลือก งา  เป็นต้น เพื่อเสริมความสิริมงคลให้กับชีวิตคู่อีกด้วย



     ฤกษ์ยาม " พิธีหมั้นหมายและการจัดขันหมาก " หลังจากที่มีการสู่ขอตามประเพณีของไทยแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การหาฤกษ์งามยามดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนไทยก็มักจะไปขอฤกษ์จากพระสงฆ์ที่วัด หรือดูฤกษ์ยามจากโหรและพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดดวงหรือโชคชะตา  โดยส่วนใหญ่ก่อนที่จะมีการแต่งงาน หรือจัดพิธีหมั้นหมาย คนไทยจะไปปรึกษากับโหราจารย์ผู้มีความรู้เกี่ยวกับฤกษ์ยาม  เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิตคู่ของเราค่ะ โดยตามปกตินิยมจัดพิธีหมั้นหมาย หรือพิธีแต่งงานในเดือนคู่คือ เดือน 2 หรือเดือนยี่ เดือน 4 เดือน 6 เดือน 10 ส่วน เดือน 8 เป็นเดือนเข้าพรรษาจึงไม่นิยมเลื่อนไปเป็นเดือน 9 แทน โดยถือเคล็ดเลข 9 มีเสียงแสดงความหมายเป็นมงคล คือก้าวไปข้างหน้าในพิธีหมั้นหมายนั้น ก่อนจะมีการยกขบวนขันหมากหมั้น ฝ่ายชายจะต้องจัดเตรียมขันหมากหมั้นเพื่อทำการหมั้นหมายฝ่ายหญิง โดยให้เฒ่าแก่ฝ่ายชายเป็นผู้นำไปมอบให้กับเฒ่าแก่ของฝ่ายหญิง โดยการจัดขันหมากหมั้นหมายนั้น นอกจากค่าสินสอดทองหมั้นต่าง ๆ ตามที่ได้ตกลงกับทางครอบครัวฝ่ายหญิงไว้แล้ว  ฝ่ายชายจำเป็นต้องเตรียมของพร้อมจัดอยู่ในพานขันหมาก ได้แก่ พานใส่ของหมั้นที่เรียกว่า ขันเงิน และ ขันทอง ซึ่งข้างในนอกจากจะมีสินสอด ของมีค่าที่เป็นของหมั้นหมายแล้ว ยังมีหมากดิบ 8 ลูก พลู 8 เรียง ถั่วเขียว 1 ถุง , ข้าวเปลือก 1 ถุง , งาดำ 1 ถุง , ข้าวตอก 1 ถุง , ใบเงิน , ใบทอง และใบนากเท่านั้น และขันหมากหมั้นหมายโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีขนม ต้นกล้วย ต้นอ้อย ไม่มีการกั้นประตู ไม่มีการเทขันหมากและไม่ต้องนับเงิน แต่จะทำวิธีดังกล่าวในช่วงแห่ขบวนขันหมากในวันแต่งงานเท่านั้น
     เอกลักษณ์ที่โดดเด่นและไม่เหมือนใครของบ้านมหาสวัสดิ์ คือ การแห่ขันหมากทางเรือ สืบเนื่องมาจากสมัยก่อนพื้นที่ดั้งเดิมของชาวสวนเมืองนนท์ หรือจะเป็นวัด สวนผลไม้ และไม้ดอกไม้ประดับ ชีวิตส่วนใหญ่ผูกพันกับคลอง ดังนั้นเมื่อมีงานมงคลไม่ว่าจะเป็นงานบวช หรืองานแต่ง มีไม่น้อยที่ใช้เรือเข้ามามีส่วนร่วมในการเดินทาง จากบ้านไปวัด หรือ บ้านงานทีหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง ดังนั้นทางบ้านจึงนำเอกลักษณ์การแห่ขันหมากทางเรือกลับมาให้คู่บ่าวสาวสมัยใหม่ ได้ลองสัมผัส เพิ่มความแปลกใหม่ สนุกสนาน และไม่เหมือนที่ไหน กับขบวนแห่ขันหมาก
     ขั้นตอนการแต่งงาน “ พิธีรับไหว้ ” 
     ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงออกถึงการมีสัมมาคารวะ ความนอบน้อมต่อบิดามารดา และบรรดาญาติผู้ใหญ่ซึ่งตามธรรมเนียมพิธีรับไหว้แต่เดิมนั้น เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องถือพานดอกไม้ธูปเทียน คลานเข้าไปไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ในปัจจุบันอาจเป็นเพราะความไม่สะดวกของสถานที่ หรือมุมสำหรับให้ช่างภาพตั้งกล้องถ่ายรูปไว้ดูเป็นที่ระลึก และสาเหตุอื่นๆ จึงเปลี่ยนมาจัดสถานที่รับไหว้เพื่อให้เป็นการสะดวกของคู่บ่าวสาว คือจัดเก้าอี้หรือเสื่อเตรียมไว้ ผู้ใดจะทำพิธีไหว้ก็มานั่งในสถานที่นั้นต่อหน้าเจ้าบ่าวเจ้าสาว ครั้นพอทำพิธีเสร็จแล้วจึงลุกออกไป เพื่อให้ผู้อื่นเข้ามาทำพิธีรับไหว้ต่อ แล้วญาติผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนกันไปทำพิธีดังกล่าว ซึ่งสะดวกและไม่ขลุกขลัก ซึ่งการไหว้ญาติผู้ใหญ่หรือพิธีรับไหว้นั้น จะไล่เรียงไปตามลำดับอาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ฯลฯ ส่วนใหญ่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน จะให้เกียรติทางฝ่ายชายทำพิธีรับไหว้ก่อน หรือจะไหว้ปู่ ยา ตา ยาย ของทั้ง 2 ฝ่ายก่อนก็ได้ โดยการรับไหว้นั้น คู่บ่าวสาวจะยกพานธูปเทียนแพ และผ้าไหว้ คลานเข้าไปกราบบิดามารดา ถือเป็นการฝากเนื้อฝากตัวแสดงความเคารพ ซึ่งผู้ใหญ่จะรับผ้าไหว้ และรับไหว้ด้วยซองแถมพก เงินทุน หรือของมีค่าให้แก่คู่บ่าวสาว พร้อมทั้งกล่าวให้ศีลให้พร ให้ลูกทั้ง 2 มีแต่ความสุขความเจริญ แล้วจึงหยิบเงินรับไหว้ใส่ลงไปในพาน แล้วหยิบด้ายมงคลหรือสายสิญจน์เส้นเล็กๆ ผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวเป็นการรับขวัญ จากนั้น คู่บ่าวสาวจึงยกผ้าไหว้ ไหว้ญาติผู้ใหญ่ ท่านอื่นๆ เรียงตาม ลำดับอาวุโส หลังจากรับไหว้ผู้ใหญ่ก็จะส่งเงินในพานให้คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นเงินทุนขั้นตอนนี้ญาติพี่ น้องอาจจะสมทบทุนเพิ่มให้ด้วยตามอัธยาศัย ต่อจากนั้นก็ช่วยกันนำถั่วงาและแป้งมาประพรมอวยพร ทั้งนี้ หากเป็นพ่อแม่หรือผู้หลักผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ทำพิธีจะให้กราบที่หมอน 3 ครั้ง แต่ถ้าเป็นญาติอื่นๆ ทั่วไปก็ให้กราบเพียง 1 ครั้ง (กราบโดยไม่ต้องแบมือ) ส่วนเงินรับไหว้ทั้งหมดนั้น คู่บ่าวสาวจะเก็บไว้เป็นเงินทุน ด้วยเหตุนี้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่อาจจะรับไหว้ด้วยสร้อยและแหวนทองคำ เงินสด ส่วนใหญ่ของรับไหว้จะมากน้อยอยู่ตามฐานะ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงความเคารพที่เด็กพึ่งมีต่อผู้ใหญ่มากกว่า
     " พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ " หลั่งน้ำสังข์ หรือเรียกกันทั่วไปว่า รดน้ำสังข์ ในงานแต่งงานแบบไทย ปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นกันแพร่หลาย ในพิธีการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือพิธีรดน้ำสังข์ แขกผู้ใหญ่ จะนำน้ำที่อยู่ในหอยสังข์ รดไปที่มือของคู่บ่าวสาว พร้อมอวยพรให้บ่าวสาว ครองรัก ครองเรือนอย่างมีความสุขสิ่งสำคัญในพิธีนี้คงหนีไม่พ้น หอยสังข์ ซึ่งถือเป็นสิ่งมงคล เป็นหนึ่งใน 4 อย่างที่พระนารายณ์ซึ่งเป็นเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ ถือไว้ในพระกร จึงได้ถูกนำมาใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะใช้เป่าหรือใส่น้ำมนต์ หรือหลั่งน้ำแก่คู่สมรส เสมือนเป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตคู่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่เราได้มาจากพราหมณ์นั่นเอง ซึ่งความหมายของน้ำทั้ง 4 มีดังต่อไปนี้
     น้ำ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นปึกแผ่น ไม่มีการแตกแยก รวมตัวกันตลอดเวลา ด้วยคุณสมบัติของน้ำ จึงนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการอวยพรคู่บ่าวสาวให้ครองรักกันอย่างยั่งยืน
     น้ำ มีความเย็น คู่บ่าวสาวมาจากการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน มีภูมิหลังต่างกัน เมื่อมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน หากไม่ใจเย็นจะอยู่กันยาก
     น้ำ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง เกิดจากหยดน้ำหลายๆ หยดมารวมกัน กลายเป็นสายน้ำ ชีวิตคู่ก็เช่นกัน ต้องเรียนรู้กัน อย่ายึดติดว่าตัวฉันสำคัญที่สุด
     น้ำ ให้ชีวิต คู่รักกันต้องเป็นผู้ให้ซึ่งกันและกัน
     น้ำ ให้ชีวิต ให้คุณประโยชน์ แล้วไหลลงสู่ที่ต่ำ คือคนรักกัน ทำดีต่อกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ยึดติด ไม่เรียกร้องผลตอบแทน
     ในพิธีการรดน้ำสังข์ คู่บ่าวสาวจะบูชาพระรัตนตรัย และนั่งที่ตั่งสำหรับรดน้ำสังข์ ผู้ใหญ่ที่เคารพ คล้องพวงมาลัยให้แก่คู่บ่าวสาว และยื่นมือ 2 ข้าง ประนมมือไปยังขันรองน้ำ ผู้ใหญ่สวมมงคลที่ศีรษะ และเจิมหน้าผาก 3 จุด ของคู่บ่าวสาว แล้วรับน้ำสังข์ เมื่อรดน้ำสังข์เสร็จแล้ว ผู้ใหญ่ถอดมงคลแฝด แล้วมอบให้คู่บ่าวสาวเก็บไว้ในพิธีรดน้ำสังข์มีความเชื่อกันว่า หากเสร็จสิ้นแล้ว หากคู่บ่าวสาวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลุกขึ้นยืนก่อน ว่ากันว่าผู้นั้นจะเป็นใหญ่ในครบครัว บ้างก็ว่า ให้ช่วยกันประคับประคองกันลุกขึ้น ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล
 
 " พิธีส่งตัว " ส่วนสำคัญของพิธีอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ซึ่งทำพิฑีปูที่นอนนั้นจะพาเจ้าสาวเข้ามาในห้องหอและเจิมหน้าผากอวยพร จากนั้นค่อยนำเจ้าสาวเข้าห้องหอตามมา โดยได้เข้ามาพร้อม ๆ กันโดยเจ้าสาวต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายของตัวเองเพื่อเป็นการขอพร เมื่อเจ้าสาวเข้ามาในห้องหอแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นผู้พามามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแลจากนั้นจะให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ผู้ใหญ่จะจัดการปูที่นอนในห้องหอส่งตัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตคู่ของบ่าวสาวต่อปในอนาคต จากนั้นจัดวางข้าวของสิ่งมงคลที่มีความหมายให้อยู่เย็นเป็นสุขลงบนที่่นอน อันได้แก่ หินบดยา หรือหินก้อนเส้าซึ่งใช้ก่อไฟในครัว หมายถึงความหนักแน่น, ไม้เท้า หมายถึง อายุยืนยาว, ฟักเขียว ความอยู่เย็นเป็นสุข, แมวคราว ( แมวตัวผู้ที่อาบุมากแล้ว) หมายถึง การอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน, พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว ซึ่งล้วนมีความหมายถึงความเจริญงอกงาม อยู่ที่ไหนก็งอกงามที่นั่น,ขันใส่น้ำฝน หมายถึงความเย็นสดชื่น ชุ่มฉ่ำ  และสามัคคี รักใคร่กลมเกลียว, ไก่ขาว หมายถึงขยันหมั่นเพียร, ขันน้ำมนต์ พร้อมที่พรมน้ำมนต์, ขันบรรจุข้าวตอกดอกไม้ ดอกรัก มะลิ กุหลาบ หรือบางแห่งอาจเพิ่มถุงเงินถุงทองในระหว่างจัดวางของ และให้ศีลให้พรเป็นลำดับต่อไป